สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการในทุกๆ เรื่อง ให้เป็นไปตามข้อบังคับทางกฎหมาย เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกดำเนินคดี หรือถูกฟ้องร้อง จนสร้างผลกระทบต่อการดำเนินการของโรงงานได้ ซึ่งเรื่อง “เสียง” เอง ก็ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่กฎหมายมีข้อบังคับเอาไว้อย่างชัดเจนว่า ต้องควบคุมและรักษามาตรฐานเสียงในโรงงานให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้ โดยภาพรวมแล้ว การตรวจวัดเสียงในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น มีประเด็นสำคัญที่ต้องทำการตรวจอยู่ 3 ข้อด้วยกัน ดังต่อไปนี้
1. การตรวจวัดเสียงจากสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงงาน
ถือเป็นการตรวจวัดเสียงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ความปลอดภัยและสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรม” โดยจะเป็นการตรวจเพื่อประเมินการสัมผัสเสียง คือตรวจดูว่า ผู้ปฏิบัติงานต้องสัมผัสเสียงดังขนาดไหน ดังเกินเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการสูญเสียการได้ยินของพนักงานในโรงงาน ทั้งนี้ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการออกกฎหมายและกำหนดมาตรฐานเสียงในสภาพแวดล้อมการทำงาน คือ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงอุตสาหกรรม
2. การตรวจวัดเสียงรบกวนไปยังภายนอก
ถือเป็นการตรวจวัดเสียงที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ “ป้องกันและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนรำคาญใจของของผู้คนในบริเวณชุมชนรอบโรงงานอุตสาหกรรม” โดยจะต้องตรวจประเมินอย่างรอบคอบว่า เสียงจากกิจกรรมภายในโรงงานอุตสาหกรรมนั้น ดังเกินไป ดังเกินเกณฑ์ จนไปสร้างความรำคาญ สร้างปัญหาให้กับประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงงานเดือดร้อนหรือไม่ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวก้องกับการออกกฎหมายและกำหนดมาตรฐานเสียงรบกวนนี้ ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม
3. การตรวจวัดเสียงจากสิ่งแวดล้อมโดยทั่วไปรอบโรงงาน
ถือเป็นการตรวจวัดเสียงเพื่อประเมินเสียงที่เกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อมบริเวณชุมชน เพื่อประเมินสภาพปัญหาและสถานการณ์มลพิษทางเสียงในเขตชุมชนใกล้เคียงโรงงาน กล่าวคือ โรงงานต้องประเมินสภาวะแวดล้อมทางเสียงโดยรอบชุมชนก่อนว่าเป็นอย่างไร เสียงดังมากแต่เดิมอยู่ก่อนแล้วหรือไม่? และหากมีโรงงานเราไปอยู่อีกจะทำให้ภาพรวมบริเวณชุมชนนั้นมีมลพิษทางเสียงแย่ลงไปอีกเท่าไร เพื่อที่จะได้กำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหา และทำให้สุขภาพของผู้คนในชุมชนนั้นๆ ไม่ถูกทำร้ายจากการปฏิบัติงานของโรงงานเรา ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวก้องกับการออกกฎหมายและกำหนดมาตรฐานเสียงจากสิ่งแวดล้อมทั่วไปนี้ ก็คือ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม เช่นเดียวกันกับที่ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานเสียงรบกวนนั่นเอง
ทั้งหมด 3 ประเด็นสำคัญเรื่องการตรวจวัดเสียง ถือเป็นเงื่อนไขข้อบังคับทางกฎหมาย ที่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมจำเป็นต้องให้ความสำคัญ ซึ่งมาตรฐานในการตรวจวัดเสียงแต่ละประเด็นนั้น ก็มีรายละเอียดและข้อกำหนดที่แตกต่างกันไม่ นั่นจึงทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องอาศัยการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงโดยเฉพาะ เพื่อให้สามารถควบคุมระดับของเสียงในโรงงาน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดได้
ทั้งนี้ หากผู้ประกอบการท่านใด มองว่าเรื่องการแก้ไขปัญหาเสียงในโรงงานอุตสาหกรรมเป็นเรื่องไกลตัว ที่ไม่จำเป็นต้องรีบดำเนินการแก้ไขก็ได้นั้น จะถือว่าเป็นการละเลยต่อความรับผิดชอบในหน้าที่ และมีโอกาสเสี่ยงมากต่อการถูกตรวจสอบ หรือถูกร้องเรียน ฟ้องร้อง จากทั้งพนักงานในโรงงานที่ได้รับการดูแลไม่ดี และจากผู้คนในชุมชนใกล้เคียงที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเสียงที่ดังมาจากโรงงาน ซึ่งแน่นอนว่าหากปล่อยเอาไว้จนเหตุการณ์บานปลาย ก็จะส่งผลกระทบทำให้ธุรกิจเสียหายอย่างหนักได้ในที่สุด
สนใจและต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาเสียง สามารถติดต่อวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านอะคูสติกของเราได้ที่ คุณณัฐคม สุวรรณกุล 085-488-2527