ตามที่ทราบกันดีว่าเสียงในระดับตั้งแต่ 85 เดซิเบลขึ้นไปนั้น สามารถทำอันตรายต่อคนเราได้ จึงทำให้สถานประกอบการหลายๆ ประเภทธุรกิจ โดยเฉพาะโรงงานอุตสาหกรรม มีความเสี่ยงอย่างมากที่จะทำให้ลูกจ้างได้รับเสียงที่เกินระดับมาตรฐาน นั่นเองจึงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการทุกคน ต้องรับผิดชอบและใส่ใจกับการควบคุมดูแลระดับเสียงภายในสถานประกอบการของตัวเองอย่างเคร่งครัด
รู้หรือไม่? ผู้ประกอบการต้องทำอะไรบ้าง ให้กับลูกจ้างที่ทำงานในพื้นที่เสียงดัง
ถือเป็นความรับผิดชอบและเป็นหน้าที่ที่ผู้ประกอบการทุกคนควรให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะภายในพื้นที่ของสถานประกอบการที่ “ก่อให้เกิดเสียงดัง” นั้น อาจส่งผลให้ “ลูกจ้าง” ได้รับอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งร้ายแรงที่สุดคืออาจถึงขั้นทำให้สูญเสียการได้ยิน หรือ “หูตึง” ได้
อีกทั้งเรื่องการควบคุมระดับเสียงดังภายในสถานประกอบการยังเป็นข้อบังคับทางกฎหมายด้วย ดังนั้นจึงยิ่งถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไม่ควรละเลย ทั้งนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการควรทำให้กับลูกจ้างที่ทำงานในพื้นที่แหล่งกำเนิดเสียงดัง มีอยู่ด้วยกันหลายข้อ ดังต่อไปนี้
- ทำการตรวจประเมินระดับเสียง ภายในสถานประกอบการให้ระดับเสียงจากแหล่งกำเนิด หรือจากเครื่องจักรอยู่ในระดับมาตรฐานที่ไม่เป็นอันตรายต่อคนทำงานในพื้นที่
- ลด และควบคุมเสียงจากแหล่งกำเนิดเสียงที่เกินมาตรฐาน ให้อยู่ในระดับที่ได้มาตรฐาน และปลอดภัยต่อคนทำงานในพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี เช่น การพิจารณาเลือกเครื่องจักรที่ไม่ส่งเสียงดังมาใช้แทนเครื่องจักรที่ส่งเสียงรบกวนเกินมาตรฐาน เปลี่ยนตำแหน่งของเครื่องจักรที่เสียงดังออกไปให้ไกลจากพื้นที่ทำงานส่วนอื่นๆ สร้างห้องปิดกั้น หรือกำแพงปิดกั้นที่ทำจากฉนวนกันเสียงล้อมรอบเครื่องจักรเอาไว้ เป็นต้น
- ทำป้ายประชาสัมพันธ์แจ้งให้ทราบว่าบริเวณใด คือ เขตเสียงดังอันตราย เพื่อเตือนให้คนที่จะเข้าสู่พื้นที่เตรียมตัวในการป้องกันตัวเองด้วยการใช้อุปกรณ์ลดเสียง
- อบรมให้ความรู้กับผู้ทำงานในพื้นที่ ให้ทราบถึงปัญหาเสียงดัง อันตรายที่เกิดจากเสียงดัง รวมถึงวิธีป้องกันและดูแลตัวเองให้ปลอดภัยจากเสียงดังที่เป็นอันตราย
- จัดเตรียมอุปกรณ์ลดเสียงให้คนงานในพื้นที่สวมใส่ในขณะทำงานในพื้นที่ที่ก่อให้เกิดเสียงดัง
- จัดให้มีการตรวจการได้ยิน ให้สำหรับคนทำงานในพื้นที่เสียงดังอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งทำการจดบันทึก เพื่อเฝ้าระวังอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับลูกจ้าง และเพื่อประเมินความสำเร็จในการควบคบหรือการลดเสียงที่เราได้ใช้กับสถานประกอบการของเราว่า ได้ผลมากน้อยแค่ไหน
ยิ่งผู้ประกอบการใส่ใจกับการเฝ้าระวังและควบคุมเสียงที่เกิดขึ้นภายในสถานประกอบการมากเท่าไร ก็จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงานมากเท่านั้น อีกทั้งยังไม่ผิดต่อระเบียบข้อบังคับทางกฎหมายด้วย ซึ่งนับได้ว่ามีแต่ผลดีมากกว่าผลเสีย กลับกันหากผู้ประกอบการละเลยในข้อปฏิบัติดังกล่าว นอกจากจะทำให้เกิดอันตรายต่อลูกจ้างจนเป็นเหตุของปัญหาอื่นๆ ตามมาแล้ว ยังได้รับบทลงโทษทางกฎหมายและส่งผลร้ายต่อชื่อเสียงและความมั่นคงของบริษัทได้อีกด้วย