เลือกวัสดุดูดซับเสียงผิด ชีวิตและธุรกิจอาจผิดเพี้ยนได้!! นี่อาจเป็นคำกล่าวที่ดูเกินจริง แต่ลองคิดดูว่า ถ้าเราทำธุรกิจห้องอัดเสียง หรือห้องคาราโอเกะ แต่พอมีผู้มาใช้บริการแล้วปรากฏว่าเจอ Noise เจอเสียงสะท้อนรบกวนตลอดเวลา ธุรกิจของเรายังจะดำเนินต่อไปได้อย่างราบรื่นหรือไม่? นั่นเองที่ทำให้ในฐานะผู้ประกอบการ เราจึงไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะละเลยถึงการเลือกวัสดุสำหรับการออกแบบห้องเพื่อควบคุมเสียงสะท้อนในตั้งแต่เริ่มต้น
เลือกใช้วัสดุดูดซับเสียงอย่างไร
อย่างที่เราก็ทราบกันดีว่า การทำงานในห้องประชุมที่มีเสียงก้อง เสียงสะท้อน หรือการใช้บริการห้องบรรยาย โรงละคร ห้องสตูดิโอบันทึกเสียงที่มีเสียงสะท้อนสอดแทรกนั้น นับได้ว่านอกจากจะทำให้ประสิทธิภาพของการได้ยิน การรับสาร และการตีความสารลดน้อยลงแล้ว ยังก่อให้เกิดความขุ่นเคืองอารมณ์ และทำให้ผลผลิตที่เป็นเนื้องานที่ต้องใช้เสียงเป็นตัวนำลดคุณภาพลงด้วยนั่นเอง
จึงเป็นที่มาว่าทำไม สำหรับผู้ประกอบการในทุกธุรกิจแล้ว จุดเริ่มต้นของการออกแบบห้องแต่ละห้อง จำเป็นต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ในการใช้งาน และการเลือกใช้วัสดุเพื่อการออกแบบห้องให้สามารถควบคุมเสียงได้ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อให้ได้ห้องที่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีแนวทางในการพิจารณาเลือกวัสดุเพื่อการออกแบบห้อง ดังนี้
1. พิจาณาค่า SAC ยิ่งมากเท่าไรยิ่งดีมีประสิทธิภาพ
SAC หรือ Sound Absorption Coefficient คือค่าที่แสดงถึงสัดส่วนของพลังงานเสียงที่ถูกดูดซับไปเมื่อกระทบวัสดุดูดซับเสียง เทียบกันกับพลังงานตั้งต้นจากแหล่งกำเนิดเสียง อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นจากตัวอย่าง เช่น วัสดุ A มีค่า SAC เท่ากับ 0.55 หมายความว่าวัสดุดูดซับเสียงนั้นสามารถดูดซับเสียงได้ 55% และอีก 45% ของเสียงจากแหล่งกำเนิดจะสะท้อนออกมายังห้องนั้นๆ นั่นจึงทำให้หากวัสดุดูดซับเสียงมีค่า SAC มากเท่าไร ก็จะยิ่งทำให้ลดเสียงสะท้อนลงได้มากเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตาม ค่าการดูดซับเสียงของวัสดุประเภทต่างๆ ก็ยังแปรผันตามความถี่ของเสียงที่ไปกระทบด้วย นั่นจึงทำให้ในงานออกแบบสถาปัตยกรรม หรือห้องต่างๆ ที่มีวัตถุประสงค์การใช้งานแตกต่างกันควรเจาะจงค่าควรถี่ที่ดูดซับได้ดีด้วย เพื่อให้การดูดซับเสียงมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
2. พิจารณาค่า NRC ยิ่งมากเท่าไรก็ยิ่งมีประสิทธิภาพเช่นกัน
NRC หรือ Noise Reduction Coefficient เป็นตัวเลขที่บ่งบอกความสามารถในการดูดซับเสียงของวัสดุ โดยที่ NRC คือค่าเฉลี่ยของ SAC ที่ความถี่ 250, 500, 1000, 2000 Hz ซึ่งโดยทั่วไปค่า NRC ควรจะต้องมีค่ามากกว่า 0.40 ถึงจะนับได้ว่าเป็นวัสดุดูดซับเสียง ทั้งนี้ ความหนาของวัสดุหรือความหนาของฉนวน ก็มีผลต่อค่า NRC ด้วย โดยยิ่งมีความหนามาก ก็จะยิ่งมีค่าการดูดซับเสียงที่มากขึ้น
โดยสรุปแล้ว การออกแบบห้องเพื่อควบคุมเสียงให้เหมาะสมและได้มาตรฐานที่สามารถทำให้ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น ควรพิจารณาถึงค่าของวัสดุดูดซับเสียง 2 ค่า คือ ค่า SAC และค่า NRC ทั้งนี้ สถาปนิกหรือผู้ออกแบบห้องส่วนใหญ่จะพิจารณาเลือกวัสดุจากค่า NRC เป็นหลัก ส่วน Acoustician หรือผู้ชำนาญศาสตร์เรื่องการใช้เสียงจะพิจารณาที่ค่า SAC เป็นหลัก ซึ่งเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถได้ห้องที่มีประสิทธิภาพในการใช้งานจริงๆ การเลือกขอคำปรึกษาและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสียงและการออกแบบห้องเพื่อควบคุมเสียง ถือเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เพราะวัสดุทุกชนิดสามารถดูดซับเสียงได้ดีแตกต่างกันไป และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่มีองค์ประกอบซับซ้อนซึ่งคนทั่วไปไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด