ใครก็ตามที่มีปัญหาเสียงดังรบกวนจากภายนอก ทะลุเข้ามาสร้างความรำคาญใจภายในห้องตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นบ้านหรือคอนโด หากได้ลองค้นหาวิธีการแก้ไขดูบนโลกออนไลน์ ก็จะพบว่าวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด ที่สามารถกันเสียงดังทะลุเข้าออกผนังได้ดีที่สุดนั้นก็คือ การติดตั้ง “ผนังกันเสียง”
แต่อย่างไรก็ตาม การติดตั้งผนังกันเสียง ก็มีข้อจำกัดเช่นกัน นั่นก็คือ หากเสียงดังที่เป็นปัญหานั้น เป็นเสียงที่เกิดจากการกระแทก ทุบ เคาะ เจาะ ตอก กระทุ้งส้นเท้า เช่น เสียงตำครกทำอาหาร เสียงทุบผนัง เสียงเด็กวิ่งลงส้นเท้า ฯลฯ แม้จะติดตั้งผนังกันเสียงไปแล้ว ก็อาจแก้ไขไม่ได้มากอย่างที่คาดหวังเอาไว้ ซึ่งเราจะพาไปทำความเข้าใจกันว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น
เสียงดังแบบไหน ที่ผนังกันเสียงป้องกันได้
ในการติดตั้งผนังกันเสียงนั้น จะหมายถึงการสร้างผนังเบาขึ้นมาอีกชั้นทับไปกับผนังเดิม โดยมีการเสริมฉนวนกันเสียงหรือวัสดุอะคูสติกแทรกไปตรงกลาง ก่อนจะปิดผิวผนังด้วยแผ่นสมาร์ทบอร์ดหรือยิปซั่ม ซึ่งเมื่อติดตั้งแล้ว ก็จะทำให้ผนังมีความหนาขึ้น และกันเสียงได้ดีขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ระบบผนังกันเสียง SCG ที่จะใช้วัสดุอะคูสติก Cylence Zoundblock ซึ่งเป็นฉนวนใยแก้วที่มีความสามารถในการกันเสียงดังทะลุเข้าออกได้ดีแทรกไว้ตรงกลาง จึงทำให้เมื่อติดตั้งเสร็จแล้ว ก็จะสามารถกันเสียงดังเข้าออกทะลุผนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แต่อย่างไรก็ตาม เสียงที่ผนังกันเสียงสามารถกันได้นั้น จะต้องเป็นเสียงที่ลอยมาตามอากาศ และมากระทบผ่านผนัง เช่น เสียงทีวี เสียงพูดคุย เสียงเพลง เสียงรถยนต์บนถนน เป็นต้น แต่หากเป็นเสียงสะเทือนที่กระทบกับผนังโดยตรง เช่น เสียงทุบผนัง เสียงตำครก เสียงเคาะผนัง เสียงเด็กวิ่งเล่นลงส้นกระแทกพื้น เสียงกระแทกปิดประตู ฯลฯ ลักษณะเสียงสั่นสะเทือนแบบนี้ ผนังกันเสียงจะไม่สามารถป้องกันได้ดีมากนัก
เหตุผลก็เพราะ เสียงที่เป็นลักษณะของเสียงสั่นสะเทือน จะเป็นเสียงที่มีแรงกระทำต่อโครงสร้างผนังโดยตรง และเสียงจากแรงสั่นสะเทือนนั้นจะเดินทางไหลไปทุกทิศทุกทางตามโครงสร้างที่เชื่อมต่อกันไปเรื่อย ๆ ทำให้อาจไม่ได้ทะลุผ่านแค่ผนังกันเสียงที่ทำไว้ก็ได้ แต่ไปทะลุผ่านพื้น ฝ้า เพดาน และสร้างความรบกวนเข้ามาภายในห้องเราได้ในที่สุด
ทำอย่างไรจึงจะแก้ไขเสียงทุบ เคาะ กระแทก ผนังได้
วิธีการที่จะทำให้เราสามารถแก้ไขเสียงดังที่เป็นลักษณะเสียงสั่นสะเทือนกระแทกผนังได้นั้น ทางที่ดีที่สุดคือการแก้ที่ต้นเหตุ เช่น ถ้าเป็นเสียงดังจากการปิดกระแทกประตูแรง ๆ ก็สามารถแก้ไขได้โดยการติดอุปกรณ์กันกระแทกที่ประตู หรือหาแผ่นยางมาติดขอบประตูไว้ เพื่อให้เมื่อปิดประตูแล้วไม่เกิดเสียงดังสั่นสะเทือนมาตามโครงสร้าง
หรือหากเป็นเสียงตำครก ที่กระแทกพื้นจนสั่นสะเทือนทะลุไปยังห้องอื่น ๆ ก็ควรหาผ้าหรือแผ่นยางมารองที่ครก ก็จะช่วยทำให้เสียงดังเบาลงได้ ส่วนถ้าเป็นเสียงทุบ เคาะ เดินลงเท้า ก็จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการเคาะ กระแทก ที่กระทำต่อพื้นและผนังโดยตรง จึงจะสามารถลดเสียงดังลงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วผนังกันเสียงแบบใดอีกไหมที่สามารถกันเสียงดังที่เป็นลักษณะเสียงสั่นสะเทือนได้ คำตอบคือสามารถทำได้ แต่จะต้องใช้งบประมาณที่สูงมาก ๆ เพราะจะต้องปูพื้นยางหรือตัวกันสั่นสะเทือนรอบห้องที่อยากกันเสียงทุกด้าน แล้วจึงค่อยเสริมผนังกันเสียงอีกที เพื่อให้เสียงที่เป็นต้นเหตุไม่สัมผัสกับโครงสร้างผนังโดยตรง แต่ถูกแผ่นยางหรือตัวฉนวนกันแรงสั่นสะเทือนกันไว้ก่อน จึงจะสามารถกันเสียงได้ดี ซึ่งในความเป็นจริงนั้น ไม่นิยมทำกับที่อยู่อาศัย เพราะต้องใช้งบประมาณก้อนใหญ่
สรุป
ในการวางแผนติดตั้งผนังกันเสียงนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการสำรวจพื้นที่หน้างานจริงก่อนว่า โครงสร้างผนังเดิมเป็นอย่างไร และทำการวิเคราะห์ให้ได้ว่า เสียงดังที่เป็นปัญหานั้น เป็นเสียงลอยตามอากาศ หรือเป็นเสียงสั่นสะเทือนที่กระทำต่อโครงสร้างผนังโดยตรงกันแน่ เพื่อให้สามารถออกแบบแก้ไขปัญหาเสียงดังได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับใครที่กำลังประสบปัญหาเสียงดังรบกวนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโด หรือว่าออฟฟิศสำนักงาน และต้องการปรึกษาเพิ่มเติม เกี่ยวกับการวางแผนติดตั้งผนังกันเสียง สามารถปรึกษาทีมงาน Acoustic Expert ได้ฟรี ผ่านช่องทางออนไลน์ ตลอด 24 ชั่วโมง ทีมงานมีวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง พร้อมนัดหมาย ลงพื้นที่สำรวจหน้างานจริง และติดตั้งผนังกันเสียงให้ได้ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด