วัสดุในการควบคุมเสียง สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ คือ วัสดุกันเสียง ที่ช่วยกันเสียงจากภายนอกเข้าภายใน และกันเสียงข้างในออกภายนอกด้วย ส่วนอีกชนิดหนึ่งคือ วัสดุซับเสียง ที่มีส่วนในการช่วยลดเสียงก้องและเสียงสะท้อนภายในห้อง ทั้งนี้ เพื่อให้เราสามารถเลือกใช้วัสดุควบคุมเสียงได้เหมาะสมกับอาคาร บ้านและที่อยู่อาศัยของเรา วันนี้เราจะพาไปดูกันว่า รูปแบบของที่อยู่อาศัยที่แตกต่างไปนั้น สามารถเลือกใช้วัสดุเพื่อแก้ไขปัญหาเสียงรบกวนได้อย่างไรบ้าง
1. ที่อยู่อาศัยที่ห้องใกล้ชิดติดกัน
เคยไหมครับ ไม่ว่าห้องข้างๆ จะพูดอะไร จะทำอะไร ก็ได้ยินไปหมด และที่สำคัญถ้าเราได้ยินห้องข้างๆ ก็แน่นอนว่าห้องข้างๆ ก็จะได้ยินเสียงกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากห้องเราด้วยเหมือนกัน นี่เป็นหนึ่งในปัญหาเรื่องเสียงของรูปแบบอาคารหรือที่อยู่อาศัยที่สร้างโดยห้องชิดติดกัน อย่างอาคารพาณิชย์ ตึกแถว ห้องแถว ทาวเฮาส์ หรือว่าคอนโด ฯลฯ โดยเวลามีใครคุยกัน เล่นกัน ดูหนังในห้องเปิดเสียงดังๆ หน่อยเสียงก็จะส่งไปถึงห้องข้างๆ ได้
ทั้งนี้ วิธีการแก้ไขก็ไม่ยากครับ สามารถทำได้โดยการเลือกใช้ “วัสดุกันเสียง” กับผนังฝั่งที่ติดกับห้องถัดไป เพื่อกั้นไม่ให้เสียงจากห้องเราออกไป และกั้นไม่ให้เสียงจากห้องข้างๆ เล็ดลอดเข้ามารบกวนเราได้
2. บ้านเดี่ยวทั่วไปที่มีห้องใช้หลายๆ ห้อง
ปัญหาเรื่องเสียงสำหรับบ้านเดี่ยว โดยมากแล้วจะเกิดขึ้นกับ “ห้องที่ไม่ต้องการได้รับเสียงรบกวน” อย่าง “ห้องนอน” หรือ “ห้องอ่านหนังสือห้องทำงาน” เป็นส่วนใหญ่ เพราะห้องเหล่านี้ เป็นห้องที่ต้องใช้สมาธิ โดยเราสามารถควบคุมเสียงได้ด้วยการใช้วัสดุกันเสียงบุผนัง เพื่อกันเสียงจากภายนอกไม่ให้เข้ามารบกวนได้ แต่สำหรับบ้านบางบ้านที่มีห้องโฮมเธียเตอร์ ไว้สำหรับดูหนัง ฟังเพลง หรือร้องคาราโอเกะ ห้องนี้จะพิเศษกว่าห้องอื่นๆ เพราะปัญหาของเสียงที่เกิดในห้องนี้นั้น จะมีทั้งเรื่องของเสียงดังจากภายใน ออกไปรบกวนภายนอก และเสียงก้องเสียงสะท้อนที่จะทำให้อรรถรสในการทำกิจกรรมลดลงด้วย
ดังนั้น ในการจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงสำหรับห้องเธียเตอร์ เราจึงจำเป็นต้องเลือกใช้วัสดุควบคุมเสียงทั้ง วัสดุกันเสียงบริเวณผนัง เพื่อกันไม่ให้เสียงจากภายในห้องออกไปรบกวนนอกห้อง ร่วมกับการใช้วัสดุดูดซับเสียง เพื่อไม่ให้เกิดเสียงก้องเสียงสะท้อนรบกวนภายในห้อง
3. บ้านติดถนนใหญ่ ที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้ชุมชนรถผ่านเยอะ
นอนทีก็ต้องสะดุ้งตื่นเพราะเสียงหวีดแว๊นห้องรถราบนถนน รวมไปถึงเสียงแตร เสียงจ้อกแจ้กจอแจของการจราจรและชุมชนใกล้เคียง สำหรับใครที่บ้านตั้งอยู่ในทำเลติดถนนใหญ่หรือแหล่งชุมชนที่มีเสียงรบกวนลักษณะนี้ สิ่งสำคัญเลยก็คือ “การป้องกันไม่ให้เสียงจากภายนอกเข้ามารบกวน” นั่นจึงทำให้การแก้ไขปัญหาเสียงหลังมุ่งเน้นไปที่การใช้วัสดุกันเสียง ป้องกันเสียงจากภายนอกเข้ามาภายในบ้านภายในห้องของเรา ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ การทำกำแพง 2 ชั้น หรือติดวัสดุกันเสียงที่กำแพง รวมถึงผนังห้องด้วย เพื่อกั้นและลดเสียงที่จะเข้ามาภายในบ้าน
ทั้งนี้ รั้วรอบบ้านเราก็มีผลต่อการกันเสียงด้วยเช่นกัน ซึ่งยิ่งหากเราปลูกต้นไม้ใบดกบริเวณรั้วหน้าบ้านด้วยแล้ว ก็จะยิ่งช่วยลดเสียงที่จะผ่านเข้ามาในบ้านได้มากขึ้นด้วย นอกจากนั้นแล้ว เพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการกันเสียง เราควร “ปิดรอยต่อ” ระหว่างวงกบและบานประตูหน้าต่างให้สนิทที่สุดด้วย หรือเลือกใช้การติดม่านเพิ่มเติมที่หน้าต่างก็สามารถช่วยลดเสียงสะท้อนได้
เสียงรบกวนภายในอาคารและที่อยู่อาศัย ถือเป็นปัญหาสำคัญที่ลดทอนความสุขในการทำงาน การดำเนินชีวิตของคนเราได้ค่อนข้างมาก ดังนั้น การใส่ใจในการควบคุมแก้ไขปัญหาเสียงรบกวนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราไม่ควรละเลย ทั้งนี้ สำหรับการควบคุมเสียงให้มีประสิทธิภาพสำหรับที่อยู่อาศัยรวมถึงอาคารพาณิชย์นั้น การเลือกใช้บริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง คือสิ่งที่ควรทำ เพื่อให้เราสามารถเลือกใช้วัสดุได้อย่างเหมาะสมกับปัญหาเสียงของเรามากที่สุด