แม้จะติดตั้งผนังกันเสียงแล้ว บางทีก็ไม่ได้หมายความว่าผลลัพธ์ที่ออกมาจะเป็นไปอย่างที่ใจต้องการ เพราะยังมีปัจจัยเรื่องเสียงเล็ดลอดผ่านทางช่องต่างๆ ด้วย ที่สามารถทำให้เสียงรบกวนยังคงตามรังควานเราได้อยู่ อย่างเช่น รูปลั๊กไฟ ที่หลายๆ คนอาจมองข้ามหรือไม่ทราบมาก่อนเลยว่า คือหนึ่งในต้นทางตัวการที่ทำให้เสียงสามารถทะลุผ่านจากห้องหนึ่งมารบกวนอีกห้องหนึ่งได้ จนกลายเป็นปัญหาที่หลายคนไม่รู้ว่า ทำไมทั้งๆ ที่ติดตั้งผนังกั้นเสียงแล้ว แต่เสียงรบกวนก็กลับยังคงอยู่ไม่เลือนหาย
รูปลั๊กไฟ คือ ตัวการทำให้เราถูกเสียงรบกวน
การอยู่อาศัยในที่พักที่เต็มไปด้วยเสียงรบกวนนั้น นับได้ว่าเป็น “การลดทอนความสุขในชีวิต” ที่อาจดูเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ก็ส่งผลกระทบยิ่งใหญ่ต่อเราไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่เราไปใช้บริการห้องพักหรือโรงแรมดีๆ ที่ความตั้งใจแต่ต้นนั้นคือไปเพื่อพักผ่อน แต่ผลที่ได้กลับปรากฏว่าไม่เป็นไปอย่างที่คิด เพราะต้องถูกสะกิดรบกวนจากเสียงอันไม่พึงประสงค์ของสภาพแวดล้อมรอบข้าง ถูกเสียงรบกวนจากเพื่อนข้างห้องที่ดังทะลุผ่านผนังมาสู่ห้องเรา
อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการอาจไม่ทราบว่า แท้จริงแล้วเสียงรบกวนนั้นไม่ได้ทะลุผนังมาได้อย่างเดียว แต่ยังสามารถทะลุเล็ดลอดมาตามช่องทางอื่นๆ ได้อีกด้วยซึ่งจุดที่หลายๆ คนมองข้ามไปก็คือ “รูปลั๊กไฟ”
รูปลั๊กไฟตัวปัญหา อย่าละเลยการวางตำแหน่งในการติดตั้ง
อย่างที่เราทราบกันดีครับว่า “เสียง” เป็นพลังงานอย่างหนึ่งที่เดินทางโดยอาศัยตัวกลาง กล่าวคือ เสียงจะเดินทางจากแหล่งกำเนิดเสียง ผ่านตัวกลางซึ่งโดยปกติก็คืออากาศ เพื่อไปยังจุดรับเสียง ทั้งนี้ เมื่อตัวกลางมีสถานะเปลี่ยนไป เมื่อจุดรับเสียงอยู่ห่างไกลออกไป ก็ล้วนมีผลต่อระดับความดังของเสียงทั้งสิ้น
คราวนี้เราลองจินตนาการดูกันต่อครับว่า ถ้าเสียงจากห้องหนึ่ง ถูกส่งผ่านมายังผนัง ถึงแม้ว่า ห้องนั้นจะถูกติดตั้งวัสดุกันเสียงแล้ว แต่หากมี “รู” ให้เสียงเล็ดลอดออกไปได้ เสียงก็จะเดินทางผ่านรูนั้นไปยังอีกฝั่งได้ นั่นจึงทำให้ “รูปลั๊กไฟ” เป็นเสมือนกับทางผ่านของเสียงที่สามารถทำให้เสียงเดินทางจากห้องหนึ่งไปทะลุอีกห้องหนึ่งได้ และที่สำคัญไปกว่านั้นก็คือ หาก “ตำแหน่งรูปลั๊กไฟ” ของห้องที่อยู่ติดกันตรงกันด้วยแล้ว ยิ่งทำให้เสียงจากห้องหนึ่งสามารถเล็ดลอดทะลุผ่านไปยังอีกห้องหนึ่งได้มากยิ่งขึ้น
นั่นจึงเป็นที่มาของปัญหาที่ผู้ประกอบการหลายๆ คน หรือผู้อยู่อาศัยในบ้านสงสัยว่า ทำไมแม้จะติดตั้งวัสดุอะคูสติกผนังกันเสียงแล้ว แต่เสียงรบกวน เสียงทะลุของห้องอื่นๆ ที่อยู่ติดกัน ยังไม่หายไปสักที
จัดการอย่างไร เพื่อแก้ไขปัญหาเสียงเล็ดลอดผ่านรูปลั๊กไฟ
แน่นอนว่าการติดตั้งผนังกันเสียงนั้น คือวิธีการหลักสำคัญที่มีประสิทธิภาพของการแก้ไขปัญหาเสียงทะลุผ่านหนัง แต่ทั้งนี้ หากห้องของเรา “ยังมีรูเล็ดลอด” หรือ “มีช่องทางที่เสียงผ่านได้อยู่” นั่นก็จะทำให้ประสิทธิภาพของการกันเสียงลดน้อยลงไปด้วย ดังนั้น ในการแก้ไขปัญหา เราจึงจำเป็นต้อง “อุดรูช่องเล็ดลอด” ทั้งหมดให้สนิทปิดตายเสียก่อน ซึ่งสำหรับช่องรูปลั๊กไฟที่ตำแหน่งตรงกันของห้องที่อยู่ติดกัน เราก็จำเป็นต้องทำการอุดปิดช่องปลั๊กไฟเดิม และย้ายไปติดตั้งตำแหน่งอื่นๆ ที่ไม่ให้ตรงกันกับห้องที่อยู่ติดกัน ทั้งนี้ หากระบบผนังห้องของบ้านหรืออาคารที่มีปัญหาเป็นระบบผนังแบบ Precast ควรหลีกเลี่ยงการเจาะผนังเพื่อติดตั้งปลั๊กไฟใหม่ แต่ควรใช้วิธีสร้างผนังเบาเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นแทน และย้ายตำแหน่งรูปลั๊กใหม่บนผนังใหม่ที่สร้างขึ้น เพื่อให้การป้องกันเสียงมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เรื่องปัญหาเสียงรบกวนที่ใครๆ อาจคิดว่าเป็นปัญหาเล็กๆ แท้จริงแล้วถือเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลต่อความสุขและความราบรื่นในการดำเนินชีวิต ซึ่งถึงแม้ว่า หลายคนจะรู้วิธีการแก้ไขปัญหา ว่าจะต้องทำการติดตั้งผนังกันเสียง แต่ในเบื้องลึกแล้ว ก็ยังมีรายละเอียดที่ไม่ใช่เพียงแค่ว่าซื้อผนังกันเสียงมาติดแล้วจะแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ซ่อนอยู่
อย่างเรื่อง “รูปลั๊กไฟ” ที่เป็นช่องทางเล็ดลอดของเสียงนี้ก็เรื่องหนึ่ง ที่หากเราไม่ได้มีความรู้มาก่อน การลงทุนติดตั้งผนังกันเสียงของเราก็จะกลายเป็นการลงทุนที่เสียเปล่า เพราะติดไปแล้วก็ยังลดปัญหาเสียงไม่ได้อยู่ดี ด้วยเหตุผลนี้เองจึงทำให้ การเลือกที่จะปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านเสียง ให้เข้ามาสำรวจพื้นที่จริง และค้นหาสาเหตุของเสียงรบกวนที่แท้จริงให้เจอ เพื่อทำการแก้ไขควบคุมได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพนั้น จึงเป็นทางเลือกที่ผู้ประกอบการทุกคนควรให้ความสำคัญ เช่นเดียวกับเจ้าของบ้าน หรือเจ้าของอาคารออฟฟิศ ที่ประสบปัญหาเรื่องเสียงรบกวน ก็ควรเช่นกันที่จะขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงเพื่อหาทางแก้ไข แทนที่จะแก้เองแบบผิดๆ จนทำให้เสียเวลา เสียค่าใช้จ่าย แต่กลับไม่ได้ผลลัพธ์ของการแก้ไขที่มีประสิทธิภาพตามอย่างที่ใจต้องการ