ถ้าอยากป้องกันเสียงจากภายนอกอาคาร เสียงรถ เสียงถนน เสียงก่อสร้าง ต้องทำอย่างไร? แล้วถ้าอยากลดเสียงสะท้อน เสียงก้องในห้องประชุมต้องจัดการแบบไหน การทำความเข้าใจเรื่องวัสดุกันเสียงและวัสดุซับเสียง มีส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถจัดการควบคุมเสียงในชีวิตเราได้ดีมากยิ่งขึ้น
วัสดุดูดซับเสียง Vs วัสดุกันเสียง
คงไม่เป็นการดีแน่ๆ ถ้าเราจะต้องทำงานหรืออยู่อาศัยในห้องที่ถูกเสียงรบกวนตลอดเวลา เพราะเสียงรบกวนจะทำให้เราหงุดหงิด ไม่สบายใจ ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานแล้ว ก็ยังส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจเราในระยะยาวด้วย ดังนั้น การควบคุมเสียงในห้องต่างๆ ที่ใช้สำหรับทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม
โดยสามารถทำได้ด้วยการใช้วัสดุกันเสียง และวัสดุดูดซับเสียง ทั้งนี้ เราจะไปทำความเข้าใจกันว่า ทั้ง 2 วัสดุนี้ มีหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร เพื่อให้สามารถเลือกใช้และเสริมสร้างระบบควบคุมเสียงรบกวนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
วัสดุกันเสียง หรือ Sound Isolation
คือ วัสดุที่มีคุณสมบัติในการ “กั้นเสียง” ไม่ให้ทะลุผ่านจากห้องหนึ่งไปยังอีกห้องหนึ่ง หรือกั้นเพื่อไม่ให้เสียงรบกวนจากภายนอกเข้ามายังภายในห้องได้ รวมไปถึงการกั้นเสียงจากภายในไม่ให้ออกไปภายนอกด้วย ทั้งนี้ วัสดุกันเสียงส่วนใหญ่จะใช้กับผนัง เช่น ฉนวนกันเสียง ที่สามารถใช้ได้กับทั้งผนังแบบก่ออิฐ และผนังโครงเบา โดยการติดตั้งนั้น สามารถทำได้ด้วยการติดตั้งโครงคร่าวบนผนังเก่า ใส่ฉนวนกันเสียงลงไป และปิดด้วยแผ่นไฟเบอร์ซีเมนต์ หรือสามารถติดบนฝ้าเพดานก็ได้
วัสดุดูดซับเสียง หรือ Sound Absorbtion
คือ วัสดุที่มีคุณสมบัติในการ “ลดเสียงก้อง” และ “ลดเสียงสะท้อน” ภายในห้องที่อาจรบกวนการทำกิจกรรมต่างๆ ภายในห้องได้ อาทิ การทำงาน การประชุม การพูดคุย หรือว่าการดูหนังฟังเพลง ฯลฯ วัสดุดูดซับเสียงมีทั้งสำหรับผนัง ฝ้าเพดาน และแบบปูพื้น โดยผนังดูดซับเสียง จะเป็นแผ่นบุที่หุ้มด้วยผ้าชนิดพิเศษเคลือบสารไม่ลามไฟ หรือหุ้มด้วยผ้าใยแก้วพิเศษ ส่วนแผ่นฝ้าดูดซับเสียงนั้น โดยมากจะเป็นแผ่นฝ้ากลาสวูดหรือแผ่นฝ้ายิปซัม และสุดท้ายสำหรับพื้นดูดซับเสียง มักนิยมใช้เป็นพรมอัดชนิดลูกฟูก
เมื่อเราทราบถึง “คุณสมบัติ” และ “หน้าที่” ของวัสดุกันเสียงและวัสดุซับเสียงแล้ว เราก็จะสามารถดีไซน์การควบคุมเสียงในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น กล่าวคือ หากเราต้องการให้ห้อง บ้าน หรืออาคารของเรา ป้องกันเสียงดังรบกวนที่เกิดขึ้นรอบบริเวณใกล้เคียง เราก็จำเป็นต้องเน้นไปที่เรื่องของวัสดุกันเสียงเป็นสำคัญ เพราะมีคุณสมบัติในการกันเสียงจากด้านนอกเข้ามาสู่ด้านใน ซึ่งจะทำให้เราไม่ได้รับเสียงรบกวนจากภายนอก
กลับกันสำหรับห้องประชุม หรือห้องสัมมนา ที่ใช้ในการทำงาน เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น คนทำงานสามารถสื่อสารกันได้อย่างราบรื่น ไม่หงุดหงิดใจ การเลือกใช้วัสดุซับเสียง บุผนัง ฝ้า พื้น ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดเสียงก้อง เสียงสะท้อนลงได้ องค์ประกอบของการควบคุมเสียงเหล่านี้ คือสิ่งที่ผู้ประกอบการ ควรให้ความสำคัญ เพื่อให้อาคาร หรือบ้านที่สร้างออกมา ปราศจากเสียงรบกวนที่บั่นทอนความสุขในการทำงานและการใช้ชีวิต ซึ่งควรอย่างยิ่งที่จะวางแผนและขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องเสียงโดยตรง ในการสร้างหรือเสริมแต่งปรับปรุง